วิถีพันปีก่อนของการเลือกคู่ครองและการแต่งงานของชาวจีน
ในสมัยพันปีก่อน ประเทศจีนมีวิถีการแต่งงานและการเลือกคู่ครองอย่างไรบ้าง หลังจากได้อ่านเรื่องราวที่ผู้เขียนกำลังจะนำเสนอต่อไปนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะเข้าใจถึงสายสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างชาวจีนและชาวไทยมากขึ้น
มุมมองในเรื่องของการแต่งงานสำหรับชาวจีนโบราณ พวกเขาเชื่อว่า การแต่งงานนั้นเป็นงานเฉลิมฉลองที่ต้องยิ่งใหญ่ และมีพิธีรีตองมากมาย ทั้งการดูตัว, การดูดวงจากวันเกิด, การผูกดวงชะตา, การหมั้นหมาย, การกำหนดวันแต่งงาน, การเจรจาสินสอดทองหมั้น, การต้อนรับเจ้าสาว ตลอดจนถึงพิธีแต่งงานอย่างเป็นทางการ และการส่งตัว
มาเริ่มต้นกันที่การดูดวงและการผูกดวงชะตา ที่ชาวจีนนั้นมีความเชื่อเรื่องโชคลาภ และความเข้ากันของดวงชะตาอย่างมาก เมื่อหนุ่มสาวคิดจะแต่งงานกัน จึงได้มีการกำหนดให้ต้องมีการดูดวงก่อน เพื่อให้หมอดูทำนายชีวิตคู่ในอนาคต และทำการผูกดวงให้ทั้งคู่ได้ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร
ต่อมา เมื่อได้มีการตกลงปลงใจจะจัดงานแต่งงานแล้ว ก่อนจะมีงานแต่งจะต้องมีงานหมั้นเสียก่อน โดยทางฝ่ายชายจะต้องเป็นผู้มอบของขวัญต่างๆ เช่น เสื้อผ้า, เครื่องประดับ, ของมีค่า, เครื่องเงินเครื่องทอง และเงินสด โดยขณะที่มีทำพิธีมอบ ฝ่ายชายจะให้เหรียญเงินที่เรียกว่า ฉิว ที่มีความหมายว่า ข้อเสนอ ส่วนฝ่ายหญิงก็ต้องมอบเหรียญเงินที่เรียกว่า ยุน ที่มีความหมายว่า ยอมรับ คืนกลับให้ฝ่ายชาย จากนั้นถือว่าการแต่งงานได้รับการยืนยัน
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการเตรียมงาน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ฝ่ายชายจะต้องเชิญให้หมอดูมาช่วยดูฤกษ์งามยามดีให้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปฏิทินของจีนเป็นหลัก จากนั้นจึงกำหนดวันแต่งงาน ซึ่งในงานจะมีพิธีการมอบสินสอดทองหมั้น โดยตามหลักและความเชื่อของชาวจีนแล้ว จำนวนของสินสอดจะเป็นเครื่องหมายวัดอนาคตของบ่าวสาว และบ่งบอกถึงความมั่งมีของฝ่ายชาย
เมื่อถึงวันแต่งงาน ชาวจีนจะมีการนำตัวเจ้าสาวมายังบ้านของเจ้าบ่าว โดยจะมีการจัดขบวนแห่และเล่นดนตรีอย่างเอิกเกริก เพื่อเป็นการแสดงถึงความปลื้มปิติ จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงการทำความเคารพ ทั้งเทพยดา, บรรพบุรุษ, พ่อแม่, ญาติผู้ใหญ่ และเพื่อนบ้าน
เสร็จสิ้นพิธีการแต่งงานแล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการส่งตัวเข้าสู่เรือนหอ โดยบ่าวสาวจะมานั่งบนเตียง ที่ตกแต่งด้วยดอกไม้และสิ่งสวยงามที่จัดไว้ แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะจะต้องมีการเล่นพิเรนทร์ๆ จากเพื่อนๆ เพื่อกวนไม่ให้บ่าวสาวได้หลับนอนตลอดทั้งคืน จากนั้นจึงถือเป็นอันเสร็จพิธีอย่างสมบูรณ์
มีจีนก็ต้องมีไทย คำกล่าวที่ว่า จีนและไทยเป็นพี่น้องกัน ดูท่าจะจริง เพราะเราจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เรื่องราวในสมัยโบราณ เช่น การแต่งงาน หลายๆ จุดในพิธีการของการแต่งงานของจีน ก็สอดคล้องกับของชาวไทยอย่างมาก ก็ยังมีให้บริการทั้งภาษาจีน และภาษาไทย วัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ ปัจจุบันนี้ก็แทบจะแยกกันไม่ออก ด้วยเพราะความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมาอย่างเหนียวแน่นและช้านาน